Andorra, Principality of

ราชรัฐอันดอร์รา

​​



     ราชรัฐอันดอร์ราเป็นรัฐอิสระขนาดเล็กตั้งอยู่ในเทือกเขาพีเรนีส (Pyrenees) ระหว่างพรมแดนประเทศฝรั่งเศส กับประเทศสเปน เป็นดินแดนที่จักรพรรดิชาร์เลอมาญ (Charlemagne ค.ศ. ๘๐๐-๘๑๔) ช่วยให้หลุดพ้นจากการครอบครองของพวกมุสลิมที่ขยายอำนาจเข้ามาในยุโรปในสมัยกลาง ต่อมาได้ตกอยู่ใต้การปกครองของขุนนางและกษัตริย์ฝรั่งเศส กับบิชอปแห่งอูร์เคล (Bishopof Urgel) แห่งสเปน ในระบบการปกครองแบบฟิวดัล (feudalism) ความสัมพันธ์กับประมุขทั้งสองในฐานะผู้ปกครองได้มีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในต้นทศวรรษ๑๙๙๐ อันดอร์ราได้ปฏิรูประบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย มีการลดอำนาจและบทบาทของประมุขในระบบการปกครองแบบฟิวดัล แต่ก็ยังคงยอมรับประธานาธิบดีฝรั่งเศส และบิชอปแห่งอูร์เคลเป็นประมุขร่วมกันของประเทศ
     อันดอร์ราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐขนาดเล็กในทวีปยุโรปที่มีพื้นที่มากที่สุดรัฐขนาดเล็กที่มีขนาดรองลงมาคือ ราชรัฐโมนาโก (Principality of Monaco)สาธารณรัฐซานมาริโน (Republic of San Marino) และราชรัฐลิกเตนสไตน์ (Principality of Liechtenstein)) เริ่มเป็นที่รู้จักกันแล้วในสมัยโรมัน มีหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่าชาวโรมันเรียกชนเผ่าที่อาศัยในบริเวณแถบนั้นว่าพวกอันดอเซียน(Andosian) แต่ประวัติศาสตร์แบบจารีตนิยมของอันดอร์ราเริ่มต้นขึ้นเมื่อจักรพรรดิชาร์เลอมาญแห่งราชวงศ์คาโรลินเจียน (Carolingian) ได้ขับไล่พวกมัวร์ (Moor) ที่นับถือศาสนาอิสลามออกจากดินแดนอันดอร์ราได้สำเร็จใน ค.ศ. ๘๐๑และนับแต่นั้นเป็นต้นมาชาวอันดอร์ราก็ยกย่องให้จักรพรรดิชาร์เลอมาญเป็นบิดาของประเทศ (เพลงชาติอันดอร์ราในปัจจุบันคือ El Gran Carlemany, mon pare :จักรพรรดิชาร์เลอมาญมหาราช, บิดาของข้าพเจ้า) ต่อมา พระเจ้าชาลส์ที่ ๒ (Charles II) พระราชนัดดาทรงให้เคานต์แห่งอูร์เคล (Count of Urgel) ปกครองอันดอร์ราในฐานะลอร์ดหรือประมุข ใน ค.ศ. ๙๕๔ ลูกหลานคนหนึ่งของเคานต์แห่งอูร์เคลได้ยกดินแดนอันดอร์ราให้บิชอปแห่งอูร์เคลปกครองอย่างไรก็ดีหลังจากเคานต์แห่งฟัว (Count of Foix) ชาวฝรั่งเศส ได้เป็นทายาทของเคานต์แห่งอูร์เคลทางสายมารดา สิทธิการปกครองอันดอร์ราของเคานต์แห่งฟัวและบิชอปแห่งอูร์เคลได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญและก่อให้เกิดกระแสความตึงเครียดขึ้นในอันดอร์รา แต่ในที่สุดทั้ง ๒ ฝ่ายต่างยินยอมประนีประนอมและทำสนธิสัญญาปาเรียตเจส(Treaty of Pariatjes) ใน ค.ศ. ๑๒๗๘ โดยตกลงที่จะร่วมกันปกครองอันดอร์ราในฐานะประมุข เรียกว่า “co-princes”ต่างมีสิทธิและอำนาจในการปกครองทัดเทียมกันนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทางฝ่ายสเปน ผู้ได้รับตำแหน่งบิชอปแห่งอูร์เคลได้รับสิทธิในการปกครองอันดอร์รามาโดยตลอด และถือว่าอันดอร์ราเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองของบิชอปแห่งอูร์เคล ส่วนทางฝ่ายฝรั่งเศส สิทธิดังกล่าวนี้ได้ตกเป็นของกษัตริย์ฝรั่งเศส เมื่อเชื้อสายผู้หนึ่งของเคานต์แห่งฟัวได้เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๕๘๙ ในพระนามพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ (Henry IV ค.ศ.๑๕๘๙-๑๖๑๐)
     ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ระหว่างเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) รัฐบาลปฏิวัติได้สละสิทธิการปกครองอันดอร์ราใน ค.ศ. ๑๗๙๓ โดยยึดหลักการของการยกเลิกระบบการปกครองแบบฟิวดัล แต่ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๖เมื่อฝรั่งเศส ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบบกษัตริย์ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑(Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ทรงรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส กับอันดอร์ราและทรงใช้สิทธิของพระประมุขฝรั่งเศส ในการปกครองอันดอร์ราอีกครั้งหนึ่ง สิทธินี้ยังเป็นของประมุขฝรั่งเศส มาจนถึงปัจจุบันแม้ว่าฝรั่งเศส จะปกครองในระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ส่วนอันดอร์รายังคงรักษาประเพณีของระบบการปกครองแบบฟิวดัลอย่างเคร่งครัดโดยส่ง “บรรณาการ” (tribute) ให้แก่ประมุขฝรั่งเศส และบิชอปแห่งอูร์เคลทุก ๆ ๒ ปี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้รับเงิน ๙๖๐ ฟรังก์ ส่วนบิชอปแห่งอูร์เคลได้ ๔๖๐ เปเซตา
     ลักษณะภูมิประเทศที่อยู่บนเทือกเขาสูงและการคมนาคมไม่สะดวก กอปรกับมีพื้นที่เพาะปลูกได้เพียงร้อยละ ๔ ทำให้อันดอร์ราเป็นดินแดนที่อยู่นอกความสนใจของชาวยุโรปอื่น ๆ มาตั้งแต่สมัยกลาง แม้กระทั่งสเปน และฝรั่งเศส ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอันดอร์รามากที่สุดก็ไม่คิดจะเข้าครอบครองอันดอร์ราอย่างจริงจังอันดอร์ราเป็นรัฐที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวและถูกตัดขาดจากกิจกรรมภายนอกมาโดยตลอดในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ การที่อันดอร์ราตกอยู่ใต้ปกครองของบิชอปแห่งอูร์เคล เกลียวสัมพันธ์อันแนบแน่นดังกล่าวกับสเปน ทำให้อันดอร์ราสามารถรักษาความเป็นกลางและรอดพ้นจากภัยพิบัติของสงครามได้ ในขณะเดียวกัน การมีประมุขฝรั่งเศส ร่วมปกครองราชรัฐก็ช่วยให้อันดอร์ราปลอดภัยจากสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙) อย่างไรก็ดี นับแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ เป็นต้นมาอันดอร์ราได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ในยุโรปมากขึ้น เนื่องจากอันดอร์รากลายเป็นสถานที่เล่นสกีและกีฬาฤดูหนาวและการท่องเที่ยวในฤดูร้อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงทำรายได้สูงให้แก่ประเทศแทนการปลูกยาสูบและการเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นรายได้หลักมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวสเปน เริ่มอพยพเข้าไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ในอันดอร์รามากขึ้น นอกจากนี้อันดอร์รายังเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพดีและราคาถูกจากดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป เพราะแทบไม่มีการเก็บภาษีอากร ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในอันดอร์รา และชื่อเสียงของประเทศก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
     อันดอร์ราได้ชื่อว่าเป็นดินแดนสุดท้ายในยุโรปที่อยู่ใต้การปกครองแบบฟิวดัลก่อนมีการเปลี่ยนการปกครองในต้นศตวรรษ ๑๙๙๐ การปกครองของอันดอร์รามีลักษณะกึ่งระบบฟิวดัลและกึ่งระบอบประชาธิปไตย โดยประมุขของฝรั่งเศส และบิชอปแห่งอูร์เคลหรือ “co-princes” ร่วมกันปกครองอันดอร์รา ในทางทฤษฎีทั้งสองมีอำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติ ตุลาการ และการบริหาร แต่ในทางปฏิบัติประมุขทั้งสองมอบอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการให้แก่ผู้แทน (delegate) และผู้พิพากษาของแต่ละฝ่ายเป็นผู้ดูแลศาลฎีกาของอันดอร์รามี๒ แห่ง คือศาลฆราวาสณ เมืองแปร์ปีญง (Perpignan) ในฝรั่งเศส และศาลศาสนาประจำแขวงการปกครองของบิชอปแห่งอูร์เคลในสเปน โดยให้สิทธิแก่โจทก์ในการเลือกที่จะใช้ศาลใดก็ได้ส่วนในการบริหารอันดอร์รามีสภาการปกครอง (General Council) ประกอบด้วยสมาชิก ๒๔ คน จากเมือง ๖ เมือง คืออันดอร์ราลาเวลลา (Andorra la Vella) อองกอง (Encamp) ลามาซานา (La Macana) ออร์ดิโน (Ordino) คานิลโล (Canillo)และซานต์จูเลียเดลอเรีย (Sant Julia de Loria) เมืองละ ๔ คน มีวาระ ๔ ปี เลือกตั้งโดยผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งมีอายุเกิน ๒๕ ปี ต่อมา เมื่อมีการดำเนินการปฏิรูปการปกครองได้เพิ่มเขตเลือกตั้งเป็น ๗ เมืองและเพิ่มสมาชิกสภาการปกครองเป็น๒๘ คน สมาชิกสภาการปกครองนี้ไม่มีอำนาจทางนิติบัญญัติแต่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ธุรกิจ ภาษีขาเข้า การคมนาคม โทรศัพท์ การดับเพลิง การให้สวัสดิการและอื่น ๆ แต่ละเมืองมีคณะกรรมาธิการชุมชน (communal board) รับผิดชอบการปกครองภายใน ส่วนการกำกับและการให้บริการทางด้านการศึกษา การไปรษณีย์และการโทรเลขเป็นของรัฐบาลสเปน และฝรั่งเศส นอกจากนี้ การที่อันดอร์ราไม่มีระบบเงินตราของตนเอง จึงใช้หน่วยเงินของฝรั่งเศส และสเปน แทนคือ ฟรังก์ (franc) และเปเซตา (peseta) ปัจจุบันได้หันมาใช้เงินยูโร (Euro)
     รัฐธรรมนูญฉบับเก่าของอันดอร์รากำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องเป็นพลเมืองชายชาวอันดอร์รารุ่นอายุที่สาม (third generation) หรือรุ่นหลานเท่านั้น แต่ต่อมาสิทธิดังกล่าวนี้ได้ขยายตัวมากขึ้นเมื่ออันดอร์ราพยายามพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางของประเทศเสรีอื่น ๆ ในโลกตะวันตก ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ได้มีการขยายสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้ชายชาวอันดอร์รารุ่นอายุที่สอง (second generation) หรือรุ่นลูกและผู้หญิง อีก ๗ ปีต่อมา ชาวอันดอร์ราซึ่งมีบิดามารดาเป็นคนต่างชาติ คือชาวอันดอร์รารุ่นอายุที่หนึ่ง (first generation) หรือรุ่นแรกที่อพยพเข้าไปตั้งรกรากในอันดอร์รา อายุ ๒๘ ปีขึ้นไปทุกคนก็ได้สิทธิเลือกตั้งด้วยอย่างไรก็ดี แม้จะมีการขยายสิทธิการเลือกตั้งดังกล่าว แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงก็ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ ผู้แทนของ “co-princes” และสภาการปกครองได้ร่วมมือกันพิจารณาการปฏิรูประบบการปกครองของอันดอร์รา และได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีการจัดตั้งสภาบริหาร (executive council) ขึ้นและมีการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น นับแต่ทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นต้นมาจึงเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบอบการเมืองการปกครองของอันดอร์รา โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๘๑ “co-princes” ได้แจ้งอย่างเป็นทางการให้สภาการปกครองของอันดอร์ราจัดเตรียมแนวทางสำหรับปฏิรูประบบการปกครองดังนั้น หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาการปกครองในเดือนธันวาคมค.ศ. ๑๙๘๑ แล้วได้มีการจัดตั้งสภาบริหารขึ้นในเดือนถัดไป โดยออสการ์ เรก (Oscar Reig) ได้เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล เรียกว่า Cap de Govern ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีและเรกได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอีก ๖ คน เพื่อเข้าร่วมบริหารประเทศในคณะรัฐบาลของเขา ต่อมา ในการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๕ สภาการปกครองของอันดอร์ราได้กำหนดให้ผู้มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไปมีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเพิ่มจำนวนขึ้นอีกร้อยละ ๒๗ ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๓อันดอร์ราจัดให้มีการลงประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยของประเทศ ผลปรากฏว่าผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งร้อยละ ๗๕.๗ หรือจำนวนพลเมือง๙,๑๒๓ คนได้มาใช้สิทธิและร้อยละ ๗๔.๒ ของจำนวนดังกล่าวได้ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ ๔พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ หลังจากที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และบิชอปแห่งอูร์เคลลงนามรับรองในปลายเดือนเมษายนซึ่งนับเป็นการยุติระบบการปกครองแบบฟิวดัลที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับพันปี และเปลี่ยนบทบาทของประมุขฝรั่งเศส และบิชอปแห่งอูร์เคลที่มีต่ออันดอร์รา ชาวอันดอร์ราจึงได้รับอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ สภาการปกครองมีสถานภาพเป็นรัฐสภาแห่งชาติชาวอันดอร์ราและชาวต่างชาติที่ตั้งรกรากในอันดอร์ราเกิน ๒๐ ปีได้รับสิทธิที่จะจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและสหภาพแรงงานได้ โดยก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายรับรองพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน นอกจากนี้อันดอร์รายังจัดตั้งระบบการเก็บภาษีอากรและการศาลของตนเอง และมีอิสระในการกำหนดนโยบายต่างประเทศซึ่งฝรั่งเศส เคยกำกับดูแลในด้านนี้มาโดยตลอด
     หลังจากแยกตัวออกจากอำนาจของฝรั่งเศส และสเปน แล้ว อันดอร์ราได้สมัครเป็นสมาชิกของสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) ในเดือนมิถุนายนค.ศ. ๑๙๙๓ รัฐบาลอันดอร์ราได้ทำสนธิสัญญาด้านความร่วมมือกับฝรั่งเศส และสเปน โดยประเทศคู่สัญญาทั้งสองดังกล่าวยอมรับในอำนาจอธิปไตยของอันดอร์ราอีก ๑ เดือนต่อมาอันดอร์ราได้เป็นสมาชิกลำดับที่ ๑๘๔ ขององค์การสหประชาชาติ(United Nations) ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๓ ฝรั่งเศส และสเปน ได้จัดตั้งสถานทูตขึ้นในอันดอร์ราและอันดอร์ราก็เปิดสถานทูตในกรุงปารีสและกรุงมาดริด
     อำนาจของประธานาธิบดีฝรั่งเศส และบิชอปแห่งอูร์เคลได้ถูกลดลงจนเกือบหมด ทั้งสองมีฐานะเป็นเพียงประมุขแต่ในนามเท่านั้น และมีเพียงสิทธิในการให้คำปรึกษาหรือคัดค้านในกรณีที่อันดอร์ราทำสนธิสัญญากับอีกประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อพรมแดนและความมั่นคงของประเทศตน ในวันที่ ๑๒ ธันวาคมค.ศ. ๑๙๙๓ อันดอร์ราได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก พรรคอะกรูปาเซียวเนชันแนลดีโมเกรติกาหรือเอเอ็นดี (Agrupacio National Democratica - AND) ของออสการ์ เรกได้ที่นั่งในสภาการปกครองมากที่สุด (๘ ที่นั่ง) ในเดือนมกราคม ปี ต่อมา เรกก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาการปกครองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ จำนวน ๑๗ คน จาก ๒๘ คนให้เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลอีกครั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในระบอบการปกครองใหม่ของอันดอร์รา
     ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันดอร์ราได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพศุลกากรของประชาคมยุโรป (European Community Customs Union)ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งเปิดโอกาสให้อันดอร์รามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นกับกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป (European Community - EC) แต่ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส และกับสเปน ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างแน่นแฟ้นในต้นทศวรรษ ๒๐๐๐อันดอร์ราได้แสดงความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Europan Union) ด้วย แต่ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเท่านั้นอันดอร์ราไม่มีสนามบินของตนเอง ดังนั้น สนามบินที่เมืองตูลูส (Toulouse) ในฝรั่งเศส และที่เมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) ในสเปน จึงเป็นเสมือนหน้าด่านสำคัญสำหรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปและทั่วโลกที่ต้องการเดินทางต่อไปยังราชรัฐเก่าแก่นี้ซึ่งได้ซ่อนตัวในเทือกเขามานานนับพันปี.
     

     

ชื่อทางการ
ราชรัฐอันดอร์รา (Principality of Andorra)
เมืองหลวง
อันดอร์ราลาเวลลา (Andorra la Vella)
เมืองสำคัญ
-
ระบอบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๔๖๘ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ตั้งอยู่บนลาดเขาด้านใต้ของเทือกเขาพิเรนีส ระหว่างจังหวัด อารีแอชของประเทศฝรั่งเศสกับจังหวัดเลรีดาของประเทศสเปน
จำนวนประชากร
๗๑,๘๒๒ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
สเปนร้อยละ ๔๓ อันดอร์ราร้อยละ ๓๓ โปรตุเกสร้อยละ ๑๑ ฝรั่งเศสร้อยละ ๗ และอื่น ๆ ร้อยละ ๖
ภาษา
กาตาลัน (Catalan)
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป